ผญา

ผญา วันเข้าพรรษา

เนื้อเรื่อง

หน่วยวันเข้าพรรษา สาระการเรียนรู้ที่ 5 วันสำคัญ
ขั้นนำ
ครูพาเด็กนั่งเป็นครึ่งวงกลมและให้เด็กนั่งทำสมาธิ กำหนดลมหายใจ เป็นเวลา 5 นาที
ขั้นสอน
ครูนำคำคล้องจองเกี่ยวกับวันเข้าพรรษามากล่าวให้เด็กฟัง และให้เด็กได้ท่องตาม

"ถึงเดือนแปด  แรมหนึ่งค่ำ จดจำไว้
    ประเพณีไทย  เข้าพรรษา  พาเลื่อมใส
  นิยมบวช  จำพรรษา  ของชายไทย
     ประพฤติตน  ฝึกวินัย ใจมั่นคง"

ครูนำคำผญา ปรัชญาในการดำรงชีวิต ของบรรพบุรุษชาวอีสาน ที่ถ่ายทอดกันมาตั้งดึกดำบรรพ์ เกี่ยวกับวันเข้าพรรษามากล่าวให้เด็กฟัง และให้เด็กได้ฝึกท่องตาม

      "จันทร์เพ็งแจ้ง  ทอแสงใสสง่า           
เดือนแปดมาฮอดแล้ว  แววสิขึ้นหลื่นหลัง
เดือนนี้สงฆ์เพิ่นยัง  เข้าอยู่จำพรรษา               
ภาวนาอบรม  ข่มใจทุกแลงเช้า
เฮามาพากันเข้า  เอาบุญพร้อมพร่ำ                 
ถวายผ้าอาบน้ำฟ้า  ให้ญาท่านได้ใช้สอย”

ความหมาย คือ  พระจันทร์แจ้งทอแสงสดใส   เดือนแปดมาถึงแล้ว  พระภิกษุสงฆ์ท่านจะเข้าจำพรรษา  ภาวนาอบรมข่มใจทุกเช้าเย็น พวกเราจงพร้อมเพรียงกันถวายผ้าอาบน้ำฝนให้พระภิกษุสงฆ์ได้ใช้สอย
ครูนำภาพเกี่ยวกับกิจกรรมวันเข้าพรรษามาให้เด็กดู สัมผัส และให้เด็กได้ แสดงความคิดเกี่ยวกับภาพว่าคืออะไร

ขั้นสรุป. ครูสรุปร่วมกับเด็กเกี่ยวกับภาพ การปฎิบัติตน และความสำคัญเกี่ยวกับวันเข้าพรรษา
"การเข้าพรรษา เป็นพุทธบัญญัติ ซึ่งพระภิกษุทุกรูปจะต้องปฏิบัติตาม หมายถึง การอธิษฐานอยู่ประจำที่ไม่เที่ยวจาริกไปยังสถานที่ต่างๆ เว้นแต่มีกิจจำเป็นจริง ๆช่วงจำพรรษาจะอยู่ในช่วงฤดูฝนคือแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ถึง ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ของทุกปี วันเข้าพรรษา หมายถึง วันที่พระภิกษุในพระพุทธศาสนาอธิษฐานอยู่ประจำในวัด หรือเสนาสนะที่คุ้มแดดคุ้มฝนได้แห่งหนึ่งไม่ไปค้างแรมในที่อื่น ตลอด ๓ เดือนในฤดูฝน"

การปฏิบัติตน พุทธศาสนิกชนนิยมไปทำบุญตักบาตร ถวายเทียนพรรษา ถวายผ้าอาบน้ำฝน โดยมักจะจัดเครื่องสักการะ เช่น ดอกไม้ ธูปเทียน เครื่องใช้ เช่น สบู่ ยาสีฟัน เป็นต้น มาถวายพระภิกษุ สามเณร หรือมีการช่วยพระทำความสะอาดเสนาสนะ ซ่อมแซมกุฏิวิหารและอื่นๆ โดยนิยมไปร่วมทำบุญตักบาตร ฟังเทศน์ ฟังธรรมและรักษาอุโบสถศีลกันที่วัด บางคนอาจตั้งใจงดเว้นอบายมุขต่างๆ เป็นกรณีพิเศษ เช่น งดเสพสุรา งดฆ่าสัตว์ เป็นต้น