ผญา

ผญาเรื่องมะเฟืองประเทืองทุ่ง

Details

ความหมายของผญา

ผญา
                ผญา เป็นคำพูดที่ชาวไทยอีสาน ใช้พูดกันเพื่อแสดงถึงภูมิปัญญาของผู้พูด นักวิชาการและผู้รู้ได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับความหมายของ ผญา ไว้ดังนี้
                 ปรีชา พิณทอง (2532 : 528)   ได้ให้ความหมายว่า          ผญา (น.)   หมายถึง ปัญญา, ความรู้, ความฉลาด คำภาษิตที่มีความหมายลึกซึ้งเรียกว่า ผญา    ส่วน นงลักษณ์ ขุนทวี (มปป.) ให้ความหมายเกี่ยวกับคำว่าผญา ไว้ดังนี้      ผญา เป็นคำภาษาถิ่นอีสาน ตรงกับภาษาไทยกลางว่า ปัญญาหรือปรัชญา เพราะในภาษาถิ่นอีสาน จะใช้เสียง ผ แทนเสียง ป หรือ ปร ในภาษาไทยกลาง   เช่น    เผด เป็น เปรต,   โผด เป็น โปรด, ผาบ เป็น ปราบ, ผาสาด เป็น ปราสาท
                สำนักงานส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น (2540 : 45)   ได้สรุปความหมายของ ผญา ไว้ดังนี้ ผญา (น) เป็นคำพูดของนักปราชญ์ถิ่นอีสานโบราณ และเป็นภาษาที่มีอายุมากพอสมควร ผญาเป็นคำที่ถ่ายทอดมาจากคำว่า ปัญญา และปรัชญา      ซึ่งอพยพมาตามหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนา นักปราชญ์โบราณอีสานท่านเปลี่ยนจากคำเดิมคือ ปัญญา เป็น ผญา เพื่อความสะดวกหรือเพื่อความเหมาะสมกับภาษาถิ่นก็อาจเป็นได้ ปัญญา แปลว่า ความรอบรู้ ดังนั้น คำว่า ผญา ก็คงมีความหมายเช่นเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน
                สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดกาฬสินธุ์ (มปป.)    ให้ความหมายว่า คำผญา หรือ ผะหยา เป็นกาพย์กลอนพื้นเมืองอย่างหนึ่ง ที่แสดงความคิด ปัญญา ความฉลาดหลักแหลมของชาวบ้าน พร้อมกันนั้นก็เป็นคำพูดที่แสดงถึงความมีไหวพรับปฏิภาณอันหนักแน่นระหว่างหนุ่มสาว หญิงชาย ที่ยกขึ้นมาเพื่อถามไถ่เกี่ยวกับความรู้รอบตัว ทัศนคติคุณสมบัติที่มีความรักต่อกัน
                จากทัศนะดังกล่าวเห็นว่า คำว่า ผญา ปัญญา ปรัชญา เป็นกลุ่มภาษาเดียวกัน มีความหมายคล้ายคลึงและใกล้เคียงกัน ซึ่งอาจใช้แทนกันได้ ดังนั้น สรุปได้ว่า ผญา, ปัญญา, ปรัชญา (wisdom, philosophy, maxim, aphorism)   หมายถึง ปัญญา ความรอบรู้ ไหวพริบ สติปัญญา คำคม สุภาษิต หรือคำที่พูดเป็นปริศนาฟังแล้วได้นำมาคิดมาวิเคราะห์เพื่อค้นหาคำตอบจากปัญหาว่าความจริงเป็นอย่างไร มีความหมายว่าอย่างไร

ความเป็นมาของผญา
                วรรณกรรมมุขปาฐะประเภทผญาหรือ คำคม ภาษิตท้องถิ่นอีสานนี้ มีความเป็นมาอย่างไรหรือใครเป็นผู้ให้กำเนิด ยากที่จะตัดสินได้ว่ามาจากไหน ใครเป็นผู้ให้กำเนิดหรือริเริ่ม แต่อย่างไรก็ตาม มีผู้รู้และนักวิชาการ ที่ทำการศึกษาค้นคว้า วิจัย เกี่ยวกับเรื่องผญา หรือภาษิตอีสาน       ได้สันนิษฐานหรือให้ทัศนะเกี่ยวกับที่มาของผญาพอสรุปได้ดังนี้
                1.   ผญาเกิดจาก คำสั่งสอนและศาสนา    โดยหมายเอา คำสอนของผู้ใหญ่ที่มีต่อเด็ก ครูบาอาจารย์ที่มีต่อศิษย์ พ่อแม่ที่มีต่อลูกหลาน ทั้งนี้ก็สืบเนื่องจากคำสอนของศาสนาโดยเฉพาะพระพุทธศาสนา
                2.   ผญาเกิดจากขนบธรรมเนียมประเพณี โดยหมายเอา ข้อปฏิบัติที่คนในสังคมอีสานปฏิบัติต่อกันในวิถีชีวิต
                3. ผญาเกิดจากการเกี้ยวพาราสีของหนุ่มสาว    อาจหมายเอาแรงบันดาลใจหรือความรู้สึกภายใจที่อยากจะบอกต่อกันและกัน จึงกล่าวออกมาด้วยคำคมเชิงโวหารภาพพจน์ต่าง ๆ แล้วเกิดการโต้ตอบถ้อยคำแก่กันและกัน
                4. ผญาเกิดจากการเล่นของเด็ก โดยหมายเอา การเล่นกันระหว่างเด็กแล้วมีการตั้งคำถามอย่างเช่น ปริศนาคำทาย แต่แทนที่จะถามโดยตรงกับสร้างเป็นถ้อยคำที่คล้องจองกัน
                5. ผญาเกิดจากสภาพแวดล้อมหรือเหตุการณ์อื่น ๆ ในวิถีชีวิต โดยหมายเอา สภาพการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตแล้วเกิดแรงบันดาลใจให้เกิดถ้อยคำในใจและมีการกล่าวถ้อยคำที่คล้องจองแก่กันและกัน ในโอกาศที่เดินทางไปมาค้าขาย หรือกิจกรรมอื่น ๆ (อดิศร เพียงเกษ, ๒๕๔๔: ๙๖)
                จากการสันนิษฐานที่มาของการเกิดขึ้นของผญา จะเห็นว่าผญานั้นมีความหมายต่อชาวอีสาน ไม่ว่าชาวอีสานอาศัยอยู่สถานที่ใด เมื่อมีกิจกรรมใด ๆ ร่วมกัน หรือสนทนากันในกลุ่ม จะมีการกล่าว ผญาสอดแทรกขึ้นมาเสมอ ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทำให้ผญามีบทบาทหน้าที่และมีความสำคัญต่อสังคมชไทยอีสานตั้งแต่อตีดจนถึงปัจจุบัน อาจแบ่งเป็นประเภทต่าง ๆ   แล้วแต่โอกาสที่จะนำไปใช้ในกิจกรรมนั้น ๆ

ประเภทของผญา
                ผญาหรือคำคม ภาษิตโบราณอีสานนี้     แบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ ๆ ได้ ๔ ประเภท ดังนี้
                ๑.   ประเภทคำสอน เรียกว่า ผญาคำสอนหรือผญาภาษิต
                ๒. ประเภทเกี้ยวพาราสี เรียกว่า ผญาเครือ, ผญาย่อย หรือผญา โต้ตอบ
                ๓. ประเภทปริศนา เรียกว่า ผญาปริศนา-ปัญหาภาษิต
                ๔. ประเภทอวยพร เรียกว่า ผญาอวยพร